วันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2553

ประโยชน์ของอาหารอีสาน



อาหารอีสานเป็นอาหารที่มีหลักทางโภชนาการมากประเภทหนึ่ง อย่างแรกลองมองไปถึงคนอีสานว่า แข็งแรง ที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพฯ ลุยงานหนัก ตากแดด ตากฝนอย่างไรก็บ่ยั่น ว่ายน้ำไม่เป็นไปเป็นลูกเรือประมงก็เยอะแยะ ซึ่งการที่จะแข็งแรงอย่างนั้น อย่างหนึ่งต้องมาจากอาหาร
แล้วอาหารอีสานมีอะไรดีแฝงอยู่นอกจากรสที่เข้มข้น ผมเองเมื่อก่อนนั้นก็ไม่ได้คิดค้นหาอะไรมาก กินอาหารอีสานในกรุงเทพฯ ไปวันๆ พอไปอีสานบ่อยๆ ไปหมู่บ้านลึกๆ ไปเห็นอาหารประจำถิ่นของชาวพื้นถิ่น จึงถึงบางอ้อ
อย่างแรกที่เห็น อาหารอีสานโดยหลักจริงๆ แล้วเอามาจากธรรมชาติทั้งนั้น ซึ่งก็ต้องดูสภาพพื้นที่ของอีสานทั่วไป เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่นาสลับคลองหนองบึง มีต้นไม้หรือป่าแซมบ้าง บางพื้นที่ก็เป็นภูเขาหินปูนสูงไม่มากนัก มีป่าไม้ประปราย ความสูงที่จัดอยู่ในประเภทที่เรียกว่าป่าเต็งรัง
เวลาหน้าร้อนก็ร้อนเหลือหลาย ใบไม้ร่วงเหลือแต่กิ่ง หน้าฝนก็เขียวชอุ่มชุ่มชื้น ลำน้ำหนองบึงมีน้ำเต็มปรี่ แต่สภาพพื้นที่แบบนั้นแหละที่มีอาหารตลอดทุกฤดู
หน้าร้อนผักหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามที่แล้งน้ำ เช่น ซอกหิน ชายป่า มีเยอะเหมือนกัน เช่น ผักกระโดน ผักหวานป่า ผักแขยง ผักชีล้อม หน่อหวาย หน่อไม้ ผักฮ้วนหมู และยังมีอีกมากครับ
ส่วนหน้าฝน ยิ่งต้นฝนนั้นผักออกมามากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเภทเห็ด เห็ดโคน เห็ดระโงก ตามหนองบึง ชายน้ำก็มีผักมหาศาล ผักบุ้ง บัวบก สายบัว ผักขี้ขวง
หน้าหนาว เขาว่าผักที่มีรสชาติมากที่สุดต้องเป็นผักช่วงนี้ ผักไผ่หรือผักแพว ผักติ้ว ผักชีลาว ผักคราด
นั่นเป็นพืชผักจากธรรมชาติ ซึ่งยังไม่หมดครับ ยังมีพืชสวนครัวซึ่งทุกบ้านต้องปลูกไว้กินก็มี พริก ข่า ตะไคร้ หอม ผักกาด สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง กระถิน ชะอม ประเภทไม้ยืนต้นก็ยังมี เช่น ขนุน กล้วย มะม่วง
มาดูเรื่องเนื้อสัตว์บ้าง คนอีสานไม่อดเรื่องเนื้อสัตว์ เพราะอะไรก็กินได้ทั้งนั้น นก หนู กระแต กระรอก หมูป่า พอหน้าฝนยิ่งมีมากมายมหาศาล ตามคลอง หนอง บึง ปลาเล็กปลาน้อย กบ เขียด หอยขม หอยโข่ง แม้กระทั่งประเภทแมลง จิ้งโกร่ง แมงป่อง ตั๊กแตน ไข่มดแดง ซึ่งจะว่าไปแล้วทั้งสัตว์น้ำและแมลงนั้นเป็นแคลเซียมที่ชั้นยอดที่สุด
อีกทั้งข้าวเหนียวที่เป็นตัวหลัก ผมเห็นข้าวเหนียวใหม่ สีไม่สวยแต่นิ่มหอมเหลือกำลัง และสมัยก่อนคนอีสานน่ะทำนาด้วยระบบปลอดยาปลอดปุ๋ยที่เรียกว่าข้าวอินทรีย์นั้น คนอีสานเขารู้จักมาก่อนแล้ว
ฉะนั้นดูภาพรวมของที่มาอาหารแล้ว มีประโยชน์ทั้งนั้น ไม่เพียงเท่านั้น การรู้จักกินนั้นเขายังมีภูมิปัญญามาอีกเนิ่นนาน หน้าฝนควรกินอะไรที่จะไม่เป็นหวัด หน้าหนาวควรกินอะไรที่ให้เนื้อตัวอบอุ่น หน้าร้อนกินอะไรแล้วท้องไม่อึดอัด
การปรับตัวกับธรรมชาติ เอาสิ่งรอบตัวมากิน ไม่ต้องซื้อ แถมยังได้ประโยชน์อีก
ทีนี้มามองเรื่องรสชาติ คนอีสานเขาก็คำนึงถึงรสชาติ ต้องให้อร่อยด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าหยิบมากินเพื่อให้อิ่มไปมื้อๆ
การกินของชาวบ้านที่หมู่บ้านกลางใหญ่ ที่ อ.ภูพระบาท อุดรธานี เป็นหมู่บ้านของชาวพวน ชาวพวนกลุ่มเป็นชาติพันธุ์หนึ่งที่อยู่ในแขวงคำม่วน ลาว ถูกนำเข้ามาอยู่ในอีสานและภาคกลางบางแห่ง เมื่อสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อไทยไปตีลาวครั้งใหญ่
ชาวพวนเมื่อถูกนำเข้ามาเผอิญได้อยู่ในทำเลที่ดี เพราะอยู่ใกล้ภูเขาภูพระบาท การอยู่ชายภูเขานี่อาหารค่อนข้างอุดมสมบรูณ์
เหล่าแม่บ้านเขากำลังทำของกินหลายอย่าง มีอย่างหนึ่งเป็นอาหารประเภทแกงอ่อม แกงอ่อมอีสานนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่แกงซดน้ำเหมือนแกงภาคกลาง หรือร้านอาหารอีสานในกรุงเทพฯ ที่ใส่น้ำแกงมาจนท่วมชาม
แกงอ่อมอีสานนั้นน้ำจะมีแค่ขลุกขลิก เวลากินจะปั้นข้าวเหนียวจิ้ม ให้ข้าวเหนียวมันชุ่มน้ำแกงอ่อม เพื่อให้ข้าวเหนียวมีรสชาติไปอีกแบบหนึ่ง
แกงอ่อมหอยจุ๊บก็คือหอยขม ซึ่งการกินนั้นจะต้องดูดเนื้อหอยให้หลุดออกจากเปลือก มันจึงดังจุ๊บ จึงเรียกว่าหอยจุ๊บ วิธีแกงเอาหอยขมที่ล้างสะอาดตัดปลายหรือก้นเปลือกหอยออกด้วย ใส่หม้อต้มน้ำไม่มากเพราะหลังจากสุกน้ำในตัวหอยจะออกมาอีก ใส่ข้าวเบือ ข้าวเบือคือข้าวเหนียวที่แช่น้ำจนเปื่อยแล้วมาตำให้ละเอียดที่ต้องใส่ข้าวเบือด้วยเพื่อให้น้ำแกงมันข้นขึ้น ใส่ผักแขยง ใส่น้ำปลาร้าหรือปลาแดก เติมเกลือนิดหน่อย อร่อยมากครับ บอกไม่ถูกว่าที่อร่อยนั้นมันมาจากน้ำหอยหรือผักแขยง หรือรวมๆ กัน มีรสปลาแดกหรือปลาร้าด้วย
แค่แกงอ่อมหอยจุ๊บนี่ก็แสดงให้เห็นชัดแจ้งว่า เป็นอาหารพื้นถิ่นจากธรรมชาติใกล้ตัวแท้ๆ หอยก็ไปเอามาจากแอ่งน้ำไม่ไกลจากหมู่บ้าน ผักแขยงก็เพิ่งไปเด็ดมาจากชายป่า ปลาแดกหรือปลาร้า ก็ทำเอง ไม่ต้องซื้อแค่ไปหามาเท่านั้นคุณค่าอาหารเพียบ
ฉะนั้นจึงอาจจะเป็นข้อสรุปได้ว่า การกินแบบง่ายๆ อย่างนี้นี่เองที่ทำให้คนอีสานเขาแข็งแรง บึกบึนทนแดด ทนฝน
แต่เมื่ออยู่ในกรุงเทพ กินอาหารอีสานก็ต้องเข้าใจเหมือนกันว่า เป็นอีสานรสแซ่บแบบกรุงเทพฯ สำหรับคนกรุงเทพฯ ถ้าอยากกินของแท้ต้องไปอีสานกินถึงถิ่นแล้วจะติดใจ ติดใจแล้วต้องไปบ่อยๆ จะสนุกและชอบอีสานแน่ๆ

ลักษณะการปรุงอาหารพื้นเมืองอีสาน

ลาบ เป็นอาหารประเภทยำที่มีเนื้อมาสับละเอียดหรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆบางๆปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า พริก ข้าวคั่ว ต้นหอม ผักชี รับประทานกับผักพื้นเมือง นิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่

ก้อย เป็นอาหารประเภทยำที่จะนำเนื้อย่างมาหั่นเป็นชิ้นๆผสมกับผักพื้นเมืองนิยมใช้กับเนื้อปลาหมูวัวควายและไก่ ทานกับผักสดนานาชนิด
ส่า เป็นอาหารประเภทยำ ที่นำหนังหมู เนื้อหมูย่างสับมาผสมกับหัวปลี วุ้นเส้น
แซ หรือ แซ่ เป็นอาหารประเภทยำที่นำเนื้อสดๆมาปรุงนิยมใช้กับเนื้อวัวและหมู คล้ายๆลาบแต่มักใส่เลือดสดๆด้วย กินกับผักสดตามชอบ คนโบราณนิยมกินเพราะเชื่อว่าเป็นยาชูกำลัง ปัจจุบันได้รับความนิยมเฉพาะในชนบทที่ห่างไกล
อ่อม เป็นอาหารประเภทแกงแต่มีน้ำน้อยมีผัก พื้นเมืองหลายชนิดนิยมใช้กับเนื้อ ไก่และปลาหรือเนื้อกบเนื้อเขียดหรือเนื้อสัตว์อื่นๆแต่เน้นที่ปริมาณผัก
อ๋อ ลักษณะคล้ายอ่อมแต่ไม่ใส่ผัก(ใส่เพียงต้นหอม ใบมะกรูด ตะไคร้ ใบแมงลัก) นิยมใช้ปลาตัวเล็ก กุ้ง หรือไข่มดแดงปรุง ใส่น้ำพอให้อาหารสุก
หมก เป็นอาหารประเภทหนึ่งที่ใช้ใบตองห่อนิยม ใช้กับเนื้อปลา ไก่ แมลง กบ เขียด ผักและหน่อไม้ หมกหรือห่อหมกของภาคอีสานจะไม่ใส่กะทิ
อู๋ คล้ายหมกแต่ไม่ใช้ใบตอง นิยมใช้กับเนื้อปลาโดยเฉพาะปลาตัวเล็กๆ กับพวกลูกอ๊อดกบ


หม่ำ คือ ไส้กรอกเนื้อวัวผสมตับ ตะไคร้และเครื่องเทศอื่นๆ
หม่ำขึ้ปลา มีลักษณะคล้ายปลาร้าชนิดหนึ่งรสชาติค่อนข้างเปรี้ยว หมักกับข้าวเหนียว



แจ่ว คือ น้ำพริกของชาวอีสานนิยมใส่ปลาร้าสับหรือน้ำปลาร้า บางครั้งใส่มะกอกพื้นบ้านก็เป็นแจ่วมะกอก รับประทานกับผักสด ลวก หรือนึ่ง เป็นอาหารที่นิยมรับประทานกันทุกบ้านในภาคอีสาน เพราะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก





ตำซั่ว เป็นอาหารประเภทส้มตำชนิดหนึ่ง แต่ใส่ส่วนประกอบมากกว่า คือ ใส่ขนมจีน ผักดอง ผัก(เหมือนที่ใส่ขนมจีน) และมะเขือลาย หรือผักอื่นๆตามต้องการลงไปในตำมะละกอด้วย ผักอื่นๆตามต้องการลงไปในตำมะละกอด้วย

วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ผักพื้นเมืองอีสานที่ใช้ประกอบอาหารอีสาน

อาหารพื้นเมืองอีสานมักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรสด้วยผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น
ในอาหารที่แนะนำให้รู้จักได้กล่าวถึงผักหลายชนิด ท่านอาจจะสงสัยว่า คือผักอะไรกันแน่ มีสรรพคุณอย่างไร เรามารู้จักกันหน่อยดีกว่า
1. ผักหอมเป หรือ ผักชีฝรั่ง (Stink Weed) มีคุณค่าทางอาหารมาก นำไปกินใบสดหรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร ประเภทต้ม ลาบ ก้อย ป่น เพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ส่วนคุณค่าทางยา จะได้วิตามินหลายชนิด เช่น วิตามิน ซี, บี 1, บี 2, ไนอาซีน และเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของการสร้างวิตามินเอ

2. ตะไคร้ (Lemon grass) มีคุณค่ากับอาหารไทยมานานแล้ว ใส่ในต้มยำ แกงต่างๆ หรือจะหั่นฝอยใส่ยำ ใส่หม่ำ เพิ่มกลิ่นหอม เพิ่มรสชาติและดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ คุณค่าทางยา จะช่วยลดการบีบตัวของลำไส้บรรเทาอาการปวดท้อง ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้หัวนำมาคั่วไฟกินแก้ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในระยะแรกๆ แก้ปัสสาวะหยด และยังใช้ใบมาย่างไฟให้เหลือง แก้อาการปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ บรรเทาอาการร้อนใน ริมฝีปากแห้ง
ตะไคร้หอม บางท้องถิ่นเรียก ตะไคร้แดง เพราะลำต้นสีแดง สรรพคุณแก้ริดสีดวง เป็นแผลในปาก ริมฝีปากแตก ร้อนในกระหายน้ำ สตรีมีครรภ์กินมากไม่ได้ กินแก้ขับเลือดเสีย ขับลมในลำไส้ ใช้ทาตามแขน ขา มือ เท้าป้องกันยุงและแมลงรบกวนได้ดี
3. สะระแหน่ (Kitchen mint) เป็นผักที่มีกลิ่นดี หอมเย็น เป็นผักกินสดๆ วิตามินจึงไม่ลดลงไปเพราะการใช้ความร้อน ใช้โรยหน้าต้มยำ ลาบ ก้อย คุณค่าทางอาหารและทางยาให้ความสดชื่น ความคิดแจ่มใส ตากแห้งผสมกับใบชาชงเป็นชาหอมได้ มีเบต้า-แคโรทีน และวิตามินซีสูง
4. ผักขะแยง (Balloon vine) ผักที่มีกลิ่นรสหอมฉุน ใช้ปรุงรสอาหารโดยเฉพาะแก่งอ่อมกบ แกงหน่อไม้ คุณค่าทางยา คั้นน้ำจากต้นแก้ไข้ ทั้งต้นเป็นยาขับน้ำนม ขับลมและเป็นยาระบาย มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด
5. ชะอม (Cha-om) ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร กินยอดอ่อนทั้งสดและลวก ยอดอ่อนแกงกับหน่อไม้ หรือทอดใส่ไข่จิ้มน้ำพริก คุณค่าทางยา แก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเสียวในลำไส้ มีเส้นใยอาหาร ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และมีเบต้า-แคโรทีนสูง รากใช้ฝนกับน้ำหรือเหล้าขาวแก้ขับลมในกระเพาะอาหาร ท้องอืดเฟ้อ
6. ข่า (Greater galangal) เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ใช้ประกอบอาหารช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นเครื่องแกง อาหารไทยหลายชนิดใช้ข่าเป็นเครื่องปรุงหลัก เช่น ต้มข่าไก่ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน คุณค่าทางยาในเหง้าจะมีน้ำมันหอมระเหยต่างๆ ทำให้ช่วยขับลม ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเสมหะ ใบใช้ตำพอกหรือทาโรคผิวหนัง หิด กลาก เกลื้อน ถ้าหญิงคลอดลูกใหม่ๆ เลือดขัดให้ใช้หัวข่าสดมาบดผสมน้ำมะขามเปียกและเกลือแกง บีบคั้นเอาแต่น้ำ ประมาณชามแกงย่อมๆ ให้ดื่มจนหมด จะช่วยขับเลือดเสียและทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

7. ขิง (Ginger) เป็นพืชล้มลุก มีแง่งใต้ดินแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยและสารจากธรรมชาติ นิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวหวาน เช่น ไก่ผัดขิง ใบใช้กินกับซุปหน่อไม้ ส้มตำ หัวผสมกับกระชายทำน้ำยาขนมจีน หรือนำมาต้มทำน้ำขิงใส่น้ำตาล คุณค่าทางยา ช่วยระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัดคัดจมูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลม ช่วยบรรเทาอาการไอ ลดโคเลสเตอรอล

เหง้าขิงแห้ง เป็นยาจำพวกอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย หัวใจ ไฟธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ตด (ผายลม) ออกมา แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมพรรดึก แก้อาการปวดท้อง คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดมีตัว บิดมูกเลือก แก้อุจจาระเป็นฟองเหลือง ขับละลายก้อนนิ่ว ตำรับยาแผนโบราณใช้แก้ลมพานไส้ แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ โรคปากเปื่อยฯ
8. กระชายหรือโสมไทย (Chinese Deys) นิยมใช้แต่งรสชาติอาหาร เช่น แกงป่า ผัดเผ็ด แกงส้มเนื้อ น้ำยาขนมจีน ถือว่าเป็นเครื่องเทศอย่างหนึ่ง กระชายมี 3 ประเภท เช่น กระชายดำ กระชายแดง กระชายเหลือง ที่ใช้ประกอบอาหารคือ กระชายเหลือง คุณค่าทางยาเชื่อว่ามีสรรพคุณคล้ายโสมบำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เช่น กระชายดำ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันมากในปัจจุบัน อาจจะเรียกว่าโสมไทย จะมีน้ำมันหอมระเหยสรรพคุณดับกลิ่นคาว ทำให้กระเพาะลำไส้เคลื่อนไหวดี สรรพคุณทางยาของกระชาย ถ้าใช้หัวปรุงแก้อาการปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแตกแห้ง ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้บิดมูกเลือด บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดีฯ
9. บัวบก (Indian penny wort) กินได้ทั้งต้นเป็นผักสดหรือลวกกินกับอาหารเช่น ป่น ลาบ แจ่ว นำไปประกอบอาหารอื่นเช่น แกงหวาย ยำกับปลาแห้ง คุณค่าทางยา นำมาต้มกินแก้ฟกช้ำ ลดอาการอักเสบได้ ทำเป็นครีมลบรอยแผลเป็น รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ช่วยผ่อนคลายทำให้ความจำและสมองทำงานได้ดี
10. ผักหวานป่า (pagwan pa) เป็นผักพื้นบ้านมีบางฤดู ส่วนที่นำมาปรุงเป็นอาหารได้คือ ยอดอ่อนและใบอ่อน เช่น แกงเลียง แกงจืดใส่หมูบะช่อ แกงใส่ปลาย่าง ผัดใส่หมู หรือผัดไฟแดง คุณค่าทางยาเพราะมีใบสีเขียวจึงมีวิตามิน เกลือแร่และเบต้า-แคโรทีนมาก
11. ผักกระเฉด (Water mimosa) คุณค่าทางอาหารกินสดกับขนมจีน หรือน้ำพริกกะปิ ยำกระเฉด หรือผัดไฟแดง ใส่แกงส้ม คุณค่าทางยา ถ้ากินสดจะได้ วิตามินบี, วิตามินซี เบต้า-แคโรทีน ไนอาซีนและเกลือแร่ต่างๆ
12. ผักเสี้ยน (ดอง) (pagsian, Capparidaceae) นิยมนำมาดองเค็มหรือดองเปรี้ยวกินกับป่น หรือแจ่ว คุณค่าทางยาแม้จะผ่านการดองแล้วแต่ปริมาณเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของวิตามินเอยังสูงอยู่ และมีวิตามินแร่ธาตุอื่นๆ อีก
13. มะขาม (Tamarind) สรรพคุณ เป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูก แก้ไอ และแก้หวัดคัดจมูก มีวิตามินซี ช่วยให้ ฟันและเหงือกแข็งแรง และทำให้ผิวพรรณดี
14. กะถิน ยอดและฝักใช้กินเป็นผักสด แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยให้เจริญอาหาร บำรุงหัวใจ เมล็ดแก่ กินแก้ขับลม ขับระดูในสตรี บำรุงไตและตับ แก้อาการนอนไม่หลับ เป็นยาอายุวัฒนะ แต่มียูริกสูงต้องห้ามสำหรับคนเป็นโรคเก๊าท์
15. กะเพรา ใช้ใบดอกประกอบอาหาร เพิ่มรสชาด สรรพคุณทางยาบำรุงธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น แก้ลมตาล ลมทรางในเด็ก ใช้ปรุงผสมกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยาเขียว ยาลมธาตุ ยาแก้กษัย ส่วนรากใช้ฝนใส่ฝาหม้อดินผสมกับสุราขาวหยอดใส่ปากเด็กโต 3-5 ขวบขึ้นไป ช่วยไล่ลมในกระเพาะ ลำไส้ แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ
16. กระเทียม ใช้ปรุงอาหารต่างๆ ช่วยให้มีกลิ่นเผ็ดร้อน ชวนรับประทาน ใช้หัวสดตำทาแก้โรคผิวหนัง เช่น เกลื้อน กลาก ตลอดจนเม็ดผดผื่นคันตามตัวทั่วไป ปรุงผสมสมุนไพรอื่นๆ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ ขับลมในกระเพาะ เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยให้นอนหลับง่าย แก้โรคหืด
17. ขี้เหล็ก ใบอ่อนนำมาต้มจนเปื่อย หมดรสขม นำมาแกงใส่อุ้งตีนวัว หรือหนังวัว/ควายตากแห้ง ปิ้งไฟทุบให้นุ่ม ใส่น้ำใบยานาง บางคนก็ชอบกะทิใส่ลงไปแซบอีหลีเด้อสิบอกให่ สรรพคุณทางยา แก่นต้นขี้เหล็กนั้นแก้ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย บำรุงธาตุไฟแก้หนองในและกามโรคในบุรุษ ราก แก้ไข้หัวลม อากาศเปลี่ยนฤดู แก้ปวดเมื่อย เหน็บชา แก้กษัย บำรุงไต ดอก แก้โรคประสาทอาการนอนไม่หลับ แก้หอบหืด บดผสมน้ำฟอกผมบนศรีษะขจัดรังแค เปลือก แก้ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงลำไส้ แก้โรคเบาหวาน สมานแผลให้หายเร็ว ใบแก่ แก้ถอนพิษ ถ่ายพิษ กามโรค ตำพอกที่แข้งขา มือเท้าที่มีอาการบวมเนื่องจากเหน็บชา ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย กิ่ง-ใบ ทำเป็นยาระบายถ่ายพิษ ขับเสลดในคอ แก้ไข้จับสั่น (มาลาเรีย) ฯ
18. แคขาว แคแดง ยอดใบ ดอกและฝักเรานำมากินเป็นผัก นึ่งใส่ปลา ลวกจิ้มแจ่ว แซบแท้ๆ และยังเป็นยาแก้ท้องเดิน ท้องร่วง สมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้บิด มูกเลือด แก้ไข้หัวลม เปลือกต้นแคนั้นมีสรรพคุณทางยาแก้ร้อนในกระหายน้ำ ขับเสมหะในลำคอ ใช้ฝนเอามาทาแผลเปื่อย แผลสดได้ผลดี ส่วนใบนำมาตำพอกแผลสดเพื่อสมานเนื้อให้หายเร็ว
19. ตำลึง ใบตำนิน (ก็ว่า) ใบเป็นผักใช้ทำอาหารได้หลายอย่างทั้ง ผัด ลวก นึ่ง หรือจะใส่ในแกงก็อร่อย มีสรรพคุณทางยาดังนี้ ใบ ใช้ตำหรือบดผสมแป้งดินสอพอง พอกแผล ฝี ช่วยบีบรีดหนองให้แตกออกมา เพื่อให้แผลฝีหายเร็ว ใช้ใบปรุงกับสมุนไพรอื่นๆ เป็นยาเขียว ยาเย็น แก้ขับอาการร้อนในและพิษไข้ให้ตัวเย็นลง หรือนำใบไปตำทาตามผิวหนังแก้ผด ผื่นคัน เถา ใช้ตัดมาคลึงให้นิ่ม บีบเอาน้ำภายในออกมา หยอดตา แก้ตาฝ้า ฟาง ตาแดง ตาแฉะ มีขี้ตามาก ราก แก้ตาเป็นฝ้า ติดเชื้อ ดับพิษปวดแสบปวดร้อนในตา บำรุงธาตุเจริญอาหาร บำรุงหัวใจ บำรุงดี ทำให้ระบบขับถ่ายสะดวก รักษาโรคลำไส้และกระเพาะอาหาร ผลสุก มีสีแดงเป็นยาบำรุงร่างกายฯ
20. มะเขือเทศ อีสานบ้านเฮามักเอาใส่ตำบักหุ่ง (แซบอีหลี) ให้วิตามินซี แก้เลือดออกตามไรฟัน (ลักปิดลักเปิด) หากกินสม่ำเสมอจะทำให้ไม่เป็นมะเร็งในลำไส้ แก้โรคนอนไม่ค่อยหลับ หรือมักนอนผวา สะดุ้ง หรืออาการตกใจง่ายๆ
21. มะละกอ หรือหมากหุ่ง หรือบักหุ่ง ผลไม้สารพัดประโยชน์ในด้านอาหารของชาวอีสาน จะแห้งแล้ง อุดมสมบูรณ์ ถ้ามีหมากหุ่งละก็รอดตายเลย ใช้ทำส้มตำรสแซบ แกง หรือผัด ผลสุกกินเป็นของหวาน ตัดเป็นชิ้นๆ ลงในต้มเนื้อจะทำให้เนื้อเปื่อยง่าย เร็ว สรรพคุณทางยา ราก รสฉุนเอียนใช้แก้โรคหนองใน ขับเลือด หนองในกระเพาะปัสสาวะ บำรุงไต ก้านใบ มีสรรพคุณเช่นเดียวกัน กับทั้งฆ่าพยาธิในลำไส้และในกระเพาะอาหาร แก้โรคมุตกิต ระดูขาว เหง้า ตรงที่ฝังดินมีรากงอบโดยรอบ ใช้ทำยาขับและละลายเม็ดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ผลดี
22. มะระ ผักไห่ หรือหม่านอย ตามท้องถิ่น คนจีนเรียก โกควยเกี๊ยะ สรรพคุณทางยา ยอดและใบอ่อน แก้โรคปวดตามข้อ ตามกระดูก ที่เรียกว่า รูมาติซั่มและเก๊า แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ เมล็ด ฆ่าพยาธิในลำไส้ เป็นยาระบายอ่อนๆ ระลายพิษต่างๆ ให้ออกทางปัสสาวะและอุจจาระ ขับฤดูเสียในสตรี บำรุงดี ตับและม้าม ยอดมะระ ใช้แก้อาการเจ็บคอ ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ในปัจจุบันวงการแพทย์ไทยได้วิจัยค้นพบว่า สามารถใช้แก้โรคเอดส์เบื้องต้นได้ ทำให้เม็ดผื่นคัน แผลในร่างกายไม่ลุกลาม ทำให้กินได้นอนหลับ มีกำลังดีขึ้น
23. มะรุม ผักอีฮุม นำฝักอ่อนมาแกงใส่ปลาอร่อยนักแล สรรพคุณทางยา เปลือก ถากมาต้มน้ำกินเป็นยาช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุ ราก รสเผ็ด หวานขม ใช้แก้อาการบวมน้ำ บำรุงธาตุไฟ เจริญอาหาร ยอดและฝักอ่อน ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ไข้หัวลม (เปลี่ยนฤดู) ช่วยย่อยอาหาร

24. สะเดา (Neem Tree) เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ส่วนที่ใช้ประโยชน์ คือ ก้านใบ ผล เปลือก เมล็ดและราก มียอดใบอ่อนให้กินตลอดปีใช้เป็นอาหาร เป็นต้นไม้ที่แมลงไม่ชอบ จึงเป็นยาปราบศัตรูพืช ยอดของสะเดามีเบตา-แคโรทีนมากช่วยลดน้ำตาลในเลือด และใช้ประโยชน์ทางยาได้มากมาย
25. ขมิ้นชัน (Turmeric, Curcuma) เป็นพืชล้มลุกที่มีอยู่เหง้าอยู่ใต้ดิน มีประโยชน์ในการช่วยดับกลิ่นคาว มีสารสีเหลืองชื่อ เคอร์คูมิน (Curcuma) ฤทธิ์ทางยาแก้ปวดท้อง มีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี รักษาอาการนิ่วในถุงน้ำดี รวมทั้งโรคกระเพาะ
26. พริก (Chilli) เป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ผลใช้เป็นยา ปรุงอาหาร ช่วยเจริญอาหารรักษาอาการอาเจียน โรคหิด ปอดบวม โดยใช้ผลพริกทำเป็นขี้ผึ้งทา
27. คึ่นไช่ (Celery) เป็นพรรณไม้ล้มลุกกลิ่นหอมทั้งต้น ส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้แก่ ต้น เมล็ด ราก สรรพคุณทางยา ต้นลดความดัน รักษานิ่ว ปัสสาวะเป็นเลือด เมล็ดขับลมและระงับปวด รากใช้รักษาอาการปวดตามข้อและขับปัสสาวะ
28. ใบยานาง คนที่รู้จัก "ใบย่านาง, ใบยานาง" ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นคนภาคอีสาน หรือชอบกินอาหารอีสาน เพราะใบย่านางมักถูกใช้เป็นส่วนประกอบหนึ่งของแกงหน่อไม้ และซุปหน่อไม้ คงมีหลายคนที่ชอบกินแต่คงไม่ทราบว่าน้ำสีออกดำๆ เขียวๆ ที่อยู่ในซุปหน่อไม้ หรือแกงหน่อไม้นั้นได้มาจากน้ำของ "ใบย่านาง" นั่นเอง

แม้ว่าสีของน้ำใบย่านางนั้นอาจจะดูไม่ค่อยน่ากินสักเท่าไร แต่น้ำจากใบย่านางนั้นจะช่วยทำให้หน่อไม้ดองมีกลิ่นหอมและมีรสชาติกลมกล่อม เพราะช่วยกำจัดกลิ่นเปรี้ยวและรสขมออกไป ทำให้อาหารจานนั้นแซบนัวหลายๆ หรือหากจะนำยอดอ่อนใส่ในแกงต่างๆ ก็เพิ่มความอร่อยได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากความเเซบแล้ว ใบย่านางยังมีสรรพคุณในการช่วยถอนพิษ แก้ไข้และลดความร้อนในร่างกายได้ อีกทั้งยังเป็นพืชที่ให้แคลเซียมและวิตามินซีค่อนข้างสูง และยังให้สารอาหารอื่นๆ เช่น ฟอสฟอรัส เหล็ก และวิตามินเอ วิตามินบี 1 บี 2 และเบต้า-แคโรทีน หากกินทั้งใบก็จะมีเส้นใยมาก ส่วนรากของใบย่านางช่วยถอนพิษ แก้ไข้ แก้เมารถ เมาเรือ แก้โรคหัวใจและแก้ลมได้ด้วย ขอแถมให้อีกนิด หากนำน้ำใบย่านางมาสระผม จะช่วยทำให้ผมดกดำ ชลอผมหงอกได้อีกต่างหาก
29. ดาวเรือง (Marigold flower) เป็นไม้ดอกไม้ประดับ นอกจากมีความสวยงาม ยังมีสารแคโรทีนอยด์ ที่เป็นประโยชน์ช่วยบำรุงสายตา รักษาสภาพผิวพรรณ ฯลฯ
30. สาบเสือ (Bitter, bush, Siam weed) เป็นไม้ล้มลุก ส่วนที่ใช้ประโยชน์ทั้งต้นและใบ มีกลิ่นหอมใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้
31. กากเมล็ดชา ชาเป็นพรรณไม้ขนาดย่อมถึงกลาง ส่วนใช้ประโยชน์ได้แก่ ใบ ดอก ผล ใบอ่อน กากชา กากเมล็ด ใช้เป็นยา มีสารซาโปนิน คุณสมบัติล้างสิ่งต่างๆ ใช้สระผม ชำระสิ่งสกปรก เส้นผมชุ่มชื่นเป็นมัน
32. ชุมเห็ดเทศ (Ringworm Bush) เป็นพรรณไม้ขนาดกลาง ส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้แก่ ต้น ใบ ดอก ฝัก เมล็ด และราก ใช้เป็นยาขับพยาธิ รักษาผิวหนัง กลากเกลื้อน รักษาหูด ขับปัสสาวะ
33. ดอกดึง (Climbing Lily) เป็นพรรณไม้เถาชนิดหนึ่ง ลำต้นเกิดจากหัวหรือเหง้า ส่วนที่ใช้ประโยชน์คือเหง้า มีฤทธิ์ในการบำบัดโรคปวดข้อ โรคเก๊า ฯลฯ
34. หนอนตายยาก เป็นพรรณไม้ล้มลุก รากมีสารกำจัดแมลง เช่น หนอนผีเสื้อ หนอนกระทู้ แมลงวันทอง นำมาสกัดหรือบดแล้วพ่น